วันอังคารที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2553

กฎหมายอิสลามเบื้องต้น : ความเป็นมาและความสำคัญของกฎหมายอิสลาม

บทความ - กฎหมายอิสลามเบื้องต้น

นัยของหลักนิติธรรมอิสลาม (อัชชะรีอะฮฺ อัลอิสลามี่ยะฮฺ)
และกฎหมายอิสลาม (อัลฟิกฮุ้ล อิสลามีย์)

หลักนิติธรรมอิสลาม (อัชชะรีอะฮฺ อัลอิสลามียะฮฺ) หมายถึง สิ่งซึ่งพระองค์อัลลอฮฺ (سبحا نه وتعالي) ได้ทรงบัญญัติสิ่งนั้นเอาไว้แก่มวลบ่าวของพระองค์จากบรรดาหลักการทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นบรรดาหลักการที่เกี่ยวเนื่องกับหลักการยึดมั่น (อัลอะกีดะฮฺ) หรือหลักจริยธรรม (อัลอัคลาก) หรือการจัดระเบียบสิ่งที่ออกมาจากมนุษย์ทั้งวจีกรรม, กายกรรมและการทำธุรกรรมทั้งหลาย (ดร.ซูฟีย์ หะซัน อบูฏอลิบ ; การบังคับใช้กฎหมายอิสลามในกลุ่มประเทศอาหรับ, หน้าที่ 15 พิมพ์ครั้งที่ 4 (ค.ศ.1995) สำนักพิมพ์อันนะฮฺเฎาะฮฺ อัลอะรอบียะฮฺ, ไคโร, อียิปต์)


กฎหมายอิสลาม (อัลฟิกฮุล อิสลามีย์) หมายถึง ประมวลหลักการปฏิบัติต่าง ๆ ตามศาสนบัญญัติซึ่งจัดระเบียบพฤติกรรม วจีกรรมและการทำธุรกรรมทั้งหลายของบรรดาผู้ที่เข้าอยู่ในเกณฑ์บังคับของ ศาสนา โดยมีที่มาจากคัมภีร์อัลกุรฺอานและสุนนะฮฺตลอดจนบรรดาหลักฐานทางศาสนบัญญัติ อื่น ๆ (อ้างแล้ว หน้า 16)

นัยของหลักนิติธรรมอิสลามจึงมีความครอบคลุมและกว้างกว่านัยของกฎหมายอิสลาม เนื่องจากหลักนิติธรรมอิสลามจะประมวลถึงหลักการยึดมั่น (อัลอะกีดะฮฺ) และหลักจริยธรรม (อัลอัคลาก) ตลอดจนประมวลกฎหมายอิสลามเอาไว้ด้วย จึงกล่าวได้ว่า กฎหมายอิสลามเป็นส่วนหนึ่งของหลักนิติธรรมอิสลามโดยรวม


กฎหมายอิสลาม แบ่งออกเป็น 2 หมวดใหญ่ ๆ คือ

1. หมวดการประกอบศาสนกิจ (อัลอิบาดาตฺ) ซึ่งจะกล่าวถึงบรรดาหลักการเฉพาะที่ว่าด้วยความสัมพันธ์ของปัจเจกบุคคลกับ พระองค์อัลลอฮฺ (سبحا نه وتعالي) อาทิเช่น การละหมาด, การจ่ายซะกาต, การถือศีลอด และการประกอบพิธีฮัจญ์ เป็นต้น


2. หมวดปฏิสัมพันธ์ (อัลมุอามะลาตฺ) อันหมายถึงบรรดาหลักการเฉพาะที่ว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกัน อาทิเช่น การซื้อขาย, การทำธุรกรรมในรูปแบบต่าง ๆ การสมรส และการตัดสินข้อพิพาท เป็นต้น

ในส่วนของนักวิชาการสังกัดมัซฮับอัชชาฟิอีย์ ได้แบ่งหมวดของกฎหมายอิสลามออกเป็น 4 หมวด คือ

  1. หมวดการประกอบศาสนกิจ (อัลอิบาดาตฺ)

  2. หมวดปฏิสัมพันธ์ (อัลมุอามะลาตฺ)

  3. หมวดลักษณะอาญา (อัลอุกูบาตฺ)

  4. หมวดการสมรส (อัซซะวาจฺญ์) หรือกฎหมายครอบครัว (อะฮฺกาม – อัลอุสเราะฮฺ)


* จากสิ่งที่กล่าวมาข้างต้น ย่อมเป็นที่ประจักษ์ว่า ประเภทหมวดของกฎหมายอิสลามมีความครอบคลุมถึงเรื่องราวทางศาสนาและทางโลก ในขณะที่หลักนิติธรรมอิสลามตั้งอยู่บนหลักพื้นฐานของการจัดระเบียบที่ครอบ คลุมกิจกรรมทุกมิติของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นมิติทางจิตวิญญาณ, จริยธรรม และวัตถุ


ที่มาของกฎหมายอิสลาม

บรรดาที่มาของกฎหมายอิสลามถูกเรียกว่า บรรดาหลักฐานทางศาสนบัญญัติ (อัลอะดิลละฮฺ อัชชัรฺอียะฮฺ) หรือ บรรดาหลักมูลฐาน (อัลอุซู้ล) ซึ่งนักกฎหมายอิสลามส่วนใหญ่มีความเห็นตรงกันว่ามี 4 ประการ คือ

1. อัลกุรฺอาน (อัลกิตาบ)

2. อัล-หะดีษ (อัส-สุนนะฮฺ)

3. อัล-อิจญ์มาอฺ (เรียกทั้ง 3 ประการนี้ว่า บรรดาหลักฐานอันเป็นตัวบทที่มีการรายงานถ่ายทอด (อัลอะดิลละฮฺ อันนักลียะฮฺ) และ

4. อัล-กิยาส (ประการที่ 4 นี้ถูกจัดอยู่ในหมวดบรรดาหลักฐานที่ใช้การวิเคราะห์ทางสติปัญญา (อัลอะดิลละฮฺ อัลอักลียะฮฺ) ซึ่งนักกฎหมายอิสลามได้ผนวกประเภทของบรรดาหลักฐานในหมวดนี้เอาไว้แตกต่างกัน อาทิเช่น อัลอิสติฮฺซาน, อัลอิสติสหาบฺ, อัลอุรฟ์ และอัลมะซอลิฮฺ อัลมุรซะละฮฺ เป็นต้น)


นักวิชาการเรียกที่มาของกฎหมายอิสลามทั้ง 4 ประการนี้ว่า บรรดาหลักฐานในขั้นปฐมภูมิ (อัลอะดิลละฮฺ อัลอะซาซียะฮฺ) และเรียกประเภทอื่น ๆ ที่ถูกจัดอยู่ในหมวดของบรรดาหลักฐานที่ใช้การวิเคราะห์ทางสติปัญญาว่า บรรดาหลักฐานสืบเนื่อง (อัลอะดิลละฮฺ อัตตะบะอียะฮฺ) หรือ บรรดาหลักฐานในขั้นทุติยภูมินั่นเอง


อัลกุรฺอาน (กิตาบุลลอฮฺ) คือ พระดำรัสของอัลลอฮฺ (سبحا نه وتعالي) ที่ได้ประทานลงมาให้ท่านนบีมุฮัมมัด (صلى الله عليه وسلم) ด้วยภาษาอาหรับเพื่อเป็นปาฏิหาริย์ด้วยบทที่สั้นที่สุด พระดำรัสนั้นถูกบันทึกอยู่ในคัมภีร์ซึ่งถูกถ่ายทอดแบบมุตะวาติรและเป็นอิบา ดะฮฺด้วยการอ่าน เริ่มต้นด้วยบทอัลฟาติหะฮฺ และจบลงด้วยบทอัน-นาส (อัล-อามิดีย์ ; อัลอิฮฺกาม 1/82) อัลกุรฺอานมี 114 บท (สูเราะฮฺ) และแบ่งออกเป็น 30 ภาค (ญุซอฺ) ถือเป็นแม่บทของกฎหมายอิสลาม และเป็นที่มาของบทบัญญัติและข้อบังคับต่าง ๆ ซึ่งสามารถแบ่งออกได้ดังนี้ คือ

1. บรรดาหลักความเชื่อ

2. บรรดาหลักจริยธรรม

3. บรรดาหลักปฏิบัติซึ่งครอบคลุมทั้งหมวดการประกอบศาสนกิจ (อิบาดาตฺ) และหมวดปฏิสัมพันธ์ (มุอามะลาตฺ) โดยหมวดปฏิสัมพันธ์ (มุอามะลาต) นี้แบ่งออกเป็น หลักการครองเรือน, กฎหมายแพ่งและพาณิชย์, กฎหมายลักษณะอาญา, กฎหมายธรรมนูญการปกครอง, หลักวิธีพิจารณาคดีความทั้งแพ่งและอาญา หลักวิเทโศบายหรือกฎหมายระหว่างประเทศ และหลักเศรษฐศาสตร์และการคลัง เป็นต้น (ดร.วะฮฺบะฮฺ อัซซุฮัยลีย์ ; อุศูลุลฟิกฮฺ อัลอิสลามีย์ เล่มที่ 1 หน้า 432-439)


อัล-หะดีษ (อัส-สุนนะฮฺ) หมายถึง คำพูด การกระทำ และการยอมรับของท่านนบีมุฮัมมัด (صلى الله عليه وسلم) ซึ่งเป็นคำสอนของท่านที่ได้มีการจดจำ บันทึก ถ่ายทอดโดยผู้ใกล้ชิดและผู้เกี่ยวข้อง เพื่อใช้ยึดถือปฏิบัติสืบต่อกันมา อัล-หะดีษเป็นแม่บทของกฎหมายอิสลามในลำดับที่ 2 รองจากอัล-กุรอาน

อนึ่งนักกฎหมายอิสลามมักเรียกที่มาของกฎหมายอิสลามในลำดับที่ 2 นี้ว่า อัส-สุนนะฮฺ เนื่องจากมีนัยกว้างและครอบคลุมมากกว่าคำว่า อัล-หะดีษ โดยแบ่งประเภทของอัส-สุนนะฮฺ ออกเป็น 3 ประเภทใหญ่ ๆ คือ

1. อัส-สุนนะฮฺที่เป็นคำพูด คือ บรรดาอัล-หะดีษที่ท่านนบี (صلى الله عليه وسلم) ได้กล่าวเอาไว้ในโอกาสและเป้าหมายต่าง ๆ อาทิเช่น หะดีษที่ว่า : “…..إنَّمَاالأَعْمَالُ بِالنِّيَّاتِ” (อันที่จริงการปฏิบัติทั้งหลายขึ้นอยู่กับการตั้งเจตนา” เป็นต้น

2. อัส-สุนนะฮฺที่เป็นการกระทำ คือบรรดาการกระทำที่ท่านนบี (صلى الله عليه وسلم) ได้ปฏิบัติเอาไว้ อาทิเช่น การปฏิบัติละหมาด 5 เวลา, การประกอบพิธีฮัจญ์, การตัดสินคดีความโดยใช้พยานและการสาบาน เป็นต้น

3. อัส-สุนนะฮฺที่เป็นการรับรอง คือ การที่ท่านนบี (صلى الله عليه وسلم) นิ่งเงียบจากการปฏิเสธหรือคัดค้านคำพูดหรือการกระทำที่เกิดขึ้นเบื้องหน้า ท่านนบี (صلى الله عليه وسلم) หรือเกิดขึ้นในยุคสมัยของท่านและท่านรับรู้ถึงคำพูดหรือการกระทำนั้นโดยท่าน นบี (صلى الله عليه وسلم) เห็นด้วยหรือแสดงความยินดีหรือถือว่าคำพูดหรือการกระทำที่เกิดขึ้นนั้นเป็น สิ่งที่ดีงาม เป็นต้น (อุศูลุลฟิกฮฺ อัลอิสลามีย์ เล่มที่ 1 หน้า 450)


ในส่วนของอัส-สุนนะฮฺที่เป็นการกระทำของท่านนบี (صلى الله عليه وسلم) นั้นนักวิชาการแบ่งออกเป็น 3 ชนิด คือ

1. การกระทำต่าง ๆ อันเป็นอัธยาศัยของท่านนบี (صلى الله عليه وسلم) อาทิเช่น การยืน, การนั่ง, การรับประทานและการดื่ม เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ไม่มีข้อขัดแย้งว่าเป็นสิ่งที่อนุมัติสำหรับท่านนบี (صلى الله عليه وسلم) และสำหรับประชาชาติของท่าน แต่ไม่ถือเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องปฏิบัติในทัศนะของปวงปราชญ์

2. การกระทำต่าง ๆ ซึ่งมีการยืนยันว่าเป็นกรณีเฉพาะของท่านนบี (صلى الله عليه وسلم) เท่านั้น อาทิเช่น การถือศีลอดติดต่อกัน การอนุญาตให้มีภรรยาได้มากกว่า 4 คนในคราวเดียวกัน เป็นต้น การกระทำต่าง ๆ ชนิดนี้เป็นกรณีพิเศษเฉพาะท่านนบี (صلى الله عليه وسلم) และไม่ต้องถือตาม

3. การกระทำต่าง ๆ ที่นอกเหนือจาก 2 ประการแรก ซึ่งมีเป้าหมายในการวางข้อบัญญัติทางศาสนา การกระทำดังกล่าวเป็นสิ่งที่ถูกเรียกร้องให้มีการปฏิบัติตามโดยมีลักษณะแตก ต่างกันไปว่าเป็นสิ่งที่จำเป็นหรือส่งเสริมหรืออนุญาต เป็นต้น (อ้างแล้ว เล่มที่ 1 หน้า 478)


อัล-อิจญ์มาอฺ หมาย ถึง การเห็นพ้องกันของบรรดานักปราชญ์ทางศาสนา (มุจญ์ตะฮิด) จากประชาชาติของท่านนบีมุฮัมมัด (صلى الله عليه وسلم) ในข้อบัญญัติทางศาสนาภายหลังการเสียชีวิตของท่านนบี (صلى الله عليه وسلم) ในยุคสมัยหนึ่งจากบรรดายุคสมัยต่าง ๆ (อ้างแล้ว เล่มที่ 1 หน้า 490)

อัล-อิจญ์มาอฺ มี 2 ชนิดคือ

1. การเห็นพ้องโดยชัดเจน (อิจญ์มาอฺ-ซ่อรีฮฺ) คือ การที่บรรดานักปราชญ์ทางศาสนามีทัศนะความเห็นทั้งคำพูดและการกระทำพ้องกัน ต่อข้อชี้ขาดในประเด็นข้อปัญหาหนึ่งที่เจาะจงแน่นอน อาทิเช่น มีการร่วมชุมนุมของบรรดานักปราชญ์ในสถานที่แห่งหนึ่ง นักปราชญ์แต่ละคนได้นำเสนอความเห็นของตนอย่างชัดเจนในข้อปัญหานั้น ๆ และทัศนะของทุกคนก็พ้องกันต่อข้อชี้ขาดของปัญหานั้น หรือการที่มีนักปราชญ์ผู้หนึ่งตอบปัญหาศาสนาเอาไว้ด้วยทัศนะหนึ่ง แล้วปรากฏว่าการตอบปัญหาศาสนาจากนักปราชญ์ผู้อื่นพ้องตรงกันในข้อชี้ขาดนั้น ปวงปราชญ์ถือว่า อัล-อิจญ์มาอฺชนิดนี้เป็นหลักฐานทางศาสนา

2. การเห็นพ้องโดยนิ่งเงียบ (อิจมาอฺ-สุกูตีย์) คือ การที่นักปราชญ์ทางศาสนาบางท่านในยุคสมัยหนึ่งได้กล่าวคำพูดเอาไว้ในประเด็น ข้อปัญหาหนึ่ง และนักปราชญ์ผู้อื่นที่อยู่ร่วมสมัยนิ่งเงียบหลังจากที่รับรู้ถึงคำพูดนี้ โดยไม่มีการปฏิเสธหรือคัดค้าน อัล-อิจญ์มาอฺชนิดนี้นักนิติศาสตร์มีความเห็นต่างกันในการถือเป็นหลักฐานทาง ศาสนา (อ้างแล้ว เล่มที่ 1 หน้า 552)


อัล-กิยาส หมาย ถึง การนำข้อปัญหาที่ไม่มีตัวบทระบุถึงข้อชี้ขาดทางศาสนาไปเปรียบเทียบกับข้อ ปัญหาที่มีตัวบทระบุถึงข้อชี้ขาดทางศาสนาเอาไว้แล้ว เนื่องจากทั้ง 2 ข้อปัญหานั้นมีเหตุผลในข้อชี้ขาดร่วมกัน (มิรอาตุ้ลอุศูล 2/275)

องค์ประกอบหลักของอัล-กิยาสมี 4 ประการคือ

(1) หลักมูลฐาน (อัล-อัศลุ้) หมายถึง ตำแหน่งของข้อชี้ขาดซึ่งได้รับการยืนยันด้วยตัวบทหรืออัล-อิจญ์มาอฺ หรือหมายถึง ตัวบทที่บ่งชี้ถึงข้อชี้ขาดนั้น

(2) ข้อปลีกย่อย (อัล-ฟัรอุ้) คือตำแหน่งที่ไม่มีตัวบทหรืออิจญ์มาอฺระบุข้อชี้ขาดเอาไว้

(3) คุณลักษณะร่วมกันระหว่างหลักมูลฐาน (อัล-อัศลุ้) และข้อปลีกย่อย (อัลฟัรอุ้) คือเหตุผล (อัล-อิลละฮฺ)

(4) ข้อชี้ขาดของหลักมูลฐาน (ฮุกมุ้-อัลอิศฺล์)


ตัวอย่าง

ข้อ ชี้ขาดของไวน์คือเป็นที่ต้องห้าม (หะรอม) เนื่องจากข้อชี้ขาดของไวน์ไม่มีตัวบทระบุชี้ชัดเอาไว้ ไวน์จึงเป็นข้อปลีกย่อย (อัล-ฟัรอุ้) ในขณะที่สุรามีตัวบทบ่งชี้อย่างชัดเจนว่าเป็นสิ่งต้องห้าม (หะรอม) สุราจึงเป็นหลักมูลฐาน (อัล-อัศลุ้) เหตุผลที่สุราเป็นที่ต้องห้ามก็คือการทำให้มึนเมา, การทำให้มึนเมานี้จึงถือเป็นเหตุผล (อัล-อิลละฮฺ) อันเป็นคุณลักษณะร่วมกันระหว่างสุราและไวน์ จึงได้ข้อชี้ขาดว่า ไวน์เป็นสิ่งต้องห้าม (หะรอม) ตามข้อชี้ขาดของสุรานั่นเอง ซึ่งข้อชี้ขาดนี้เกิดจากการใช้หลักอัลกิยาส

หลักฐานที่บ่งชี้ว่า ที่มาทั้ง 4 ประการของกฎหมายอิสลามเป็นหลักฐานทางศาสนาคือ หะดีษที่มีรายงานมาว่า “ท่านรสูลฯได้กล่าวแก่มุอาซ บุตรญะบัล ขณะที่จะส่งเขาไปยังเมืองยะมันว่า : หากมีคดีความเกิดขึ้นท่านจะตัดสินอย่างไร? มุอาซตอบว่า : “ฉันจะตัดสินด้วยคัมภีร์ของอัลลอฮฺ” ท่านรสูลฯ กล่าวว่า : หากท่านไม่พบ (ข้อชี้ขาด) ในคัมภีร์ของอัลลอฮฺ ท่านจะตัดสินอย่างไร? มุอาซตอบว่า : “ฉันจะตัดสินด้วยสุนนะฮฺของศาสนทูตแห่งอัลลอฮฺ” ท่านรสูลฯ กล่าวว่า “หากท่านไม่พบในสุนนะฮฺของศาสนทูตแห่งอัลลอฮฺฯ ท่านจะตัดสินอย่างไร? มุอาซตอบว่า : “ฉันจะวินิจฉัยด้วยความเห็นของฉันโดยฉันจะไม่บกพร่องเลย” ท่านรสูลฯได้จับอกของท่านมุอาซแล้วกล่าวว่า : “การสรรเสริญทั้งมวลเป็นสิทธิแด่อัลลอฮฺ พระผู้ทรงเอื้ออำนวยให้ทูตของศาสนทูตแห่งอัลลอฮฺมีความคิดสอดคล้องกับสิ่ง ที่ศาสนทูตแห่งอัลลอฮฺพึงพอใจ” (รายงานโดยอะฮฺหมัด, อบูดาวูด, อัตติรมีซีย์, อิบนุอะดีย์, อัฏฏอบรอนีย์, อัดดารีมีย์และอัลบัยฮะกีย์เป็นหะดีษมุรสัล)


ความเป็นมาและพัฒนาการของกฎหมายอิสลาม

นักวิชาการได้แบ่งช่วงเวลาที่กฎหมายอิสลามได้มีการเปลี่ยนผ่านและพัฒนาการออกเป็น 4 ช่วงเวลาด้วยกัน ดังนี้

(1) ช่วงเวลาแห่งการเริ่มต้น ซึ่งครอบคลุมยุคสมัยของท่านนบี (صلى الله عليه وسلم) โดยเริ่มต้นนับแต่การประกาศศาสนาอิสลาม (ค.ศ.610) และสิ้นสุดลงด้วยการเสียชีวิตของท่านนบี (صلى الله عليه وسلم) (ฮ.ศ.11/ค.ศ.636)

ในช่วงเวลาดังกล่าว สาส์นแห่งอิสลามมิได้จำกัดอยู่เฉพาะด้านการชี้นำทางจิตวิญญาณ, จริยธรรมและการประกอบศาสนกิจเท่านั้นแต่ยังได้จัดระเบียบกิจกรรมของมนุษย์ใน ด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตในโลกนี้อีกด้วย ด้วยเหตุนี้ศาสนาอิสลามจึงได้ยกเลิกขนบธรรมเนียมและประเพณีของชาวอาหรับบาง ส่วนในด้านการครองเรือน การมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างปัจเจกบุคคลและความสัมพันธ์ระหว่างรัฐต่อรัฐ


ที่มาของกฎหมายอิสลามในช่วงแรกนี้จำกัดอยู่ใน 2 ประการคือ คัมภีร์อัลกุรฺอาน และสุนนะฮฺทั้ง 2 ประการนี้ได้วางรากฐานสำหรับกฎหมายอิสลามในรูปของหลักมูลฐานต่าง ๆ โดยทั่วไปตลอดจนกฎเกณฑ์พื้นฐานต่าง ๆ และจากหลักมูลฐานและกฎเกณฑ์พื้นฐานดังกล่าว นักปราชญ์ทางศาสนาก็ได้วิเคราะห์หลักการที่มีรายละเอียดซึ่งจะกลายเป็น ประมวลหลักนิติธรรมอิสลามในยุคต่อมาไม่ว่าจะเป็นรายละเอียดในการจัดระเบียบ ทางสังคม, เศรษฐกิจ, ระบอบรัฐศาสตร์ หลักการในการประกอบศาสนกิจและการมีปฏิสัมพันธ์ในรูปธุรกรรมต่าง ๆ

และในช่วงแรกนี้ สามารถแบ่งเป็น 2 ระยะคือ

1) ระยะเวลาเกือบ 13 ปี ณ นครมักกะฮฺ ซึ่งชาวมุสลิมเป็นชนส่วนน้อยในนครมักกะฮฺ มีความอ่อนแอและถูกกดขี่ มุสลิมมิได้มีส่วนร่วมในการปกครองรัฐมักกะฮฺซึ่งมีชนชั้นปกครองที่เป็นพวก ตั้งภาคี เหตุนี้โองการต่าง ๆ ในคัมภีร์อัลกุรฺอานที่เรียกกันว่าโองการมักกียะฮฺตลอดจนบรรดาหะดีษของท่าน นบี (صلى الله عليه وسلم) จึงมิได้กล่าวถึงการจัดระเบียบการปกครองและหลักการที่ว่าด้วยธุรกรรมต่าง ๆ ยกเว้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

หากแต่ได้เน้นในการอธิบายถึงหลักการยึดมั่นและหลักศรัทธาของศาสนาและเรียก ร้องเชิญชวนสู่การให้เอกภาพต่อพระองค์อัลลอฮฺ (سبحا نه وتعالي) การขัดเกลาจิตใจและวิพากษ์ความเชื่อของพลเมืองมักกะฮฺที่ยึดติดกับการตั้ง ภาคีและขนบธรรมเนียมประเพณีที่มีบ่อเกิดจากอวิชชา ส่วนการประกอบศาสนกิจในระยะแรกที่มีบัญญัติเอาไว้ก็คือเรื่องการละหมาดเท่า นั้น


2) ระยะเวลาราว 10 ปีในนครม่าดีนะฮฺซึ่งเริ่มต้นภายหลังการอพยพ (ฮิจเราะฮฺ) ของท่านนบี (صلى الله عليه وسلم) และเหล่าสาวกจากนครมักกะฮฺสู่นครมาดีนะฮฺ โดยชาวมุสลิมได้สถาปนารัฐอิสลามขึ้น ณ นครม่าดีนะฮฺและมีโครงสร้างของรัฐอันประกอบด้วยพลเมือง คือ ผู้อพยพที่เรียกว่า มุฮาญิรูนและชาวเมืองม่าดีนะฮฺที่เรียกว่า อันศ๊อร ตลอดจนชาวยิวและชนอาหรับกลุ่มอื่น ๆ มีดินแดนคือ นครม่าดีนะฮฺและเขตปริมณฑล และมีระบอบการปกครองทางรัฐศาสตร์และการเมือง ซึ่งอำนาจนิติบัญญัติ, อำนาจการบริหาร และอำนาจทางตุลาการรวมอยู่ในประมุขสูงสุดของรัฐ คือท่านนบีมุฮัมมัด (صلى الله عليه وسلم)

ทั้งนี้ท่านนบี (صلى الله عليه وسلم) ได้มีพันธสัญญาที่เรียกว่า อัศศ่อฮีฟะฮฺ ซึ่งเป็นปฏิญญาที่พลเมืองของม่าดีนะฮฺยอมรับร่วมกันทุกฝ่ายโดยมีสถานะเฉก เช่น รัฐธรรมนูญ ตามคำนิยามของนักวิชาการร่วมสมัย ในระยะที่ 2 นี้เองประมวลกฎหมายอิสลามที่เป็นแม่บทในด้านต่าง ๆ ทั้งที่เกี่ยวกับการศาสนาและทางโลกได้ถูกกำหนดวางอย่างเป็นกิจจะลักษณะและมี ความครบถ้วนสมบูรณ์


(2) ช่วงเวลาแห่งการวางหลักมูลฐานของกฎหมายอิสลาม ซึ่งเริ่มต้นนับแต่การสิ้นชีวิตของท่านนบี (صلى الله عليه وسلم) จนถึงการล่มสลายของอาณาจักรอัลอุม่าวียะฮฺ (ฮ.ศ.132/ค.ศ.750) ทางด้านการเมืองนั้นครอบคลุมยุคสมัยของบรรดาค่อลีฟะฮฺผู้ทรงธรรม (ฮ.ศ.11-41/ค.ศ.632-661) และยุคของอาณาจักรอัลอุม่าวียะฮฺ (ฮ.ศ.41-132/ค.ศ.661-750)

ส่วนทางด้านกฎหมายอิสลามนั้นรวมเอาสมัยของเหล่าสาวก, ชนรุ่นตาบิอีนและตาบิอิตตาบิอีนซึ่งเรียกรวม ๆ ว่ายุคสะลัฟ ซอลิฮฺ ในช่วงเวลาที่ 2 นี้มีการพัฒนาทางสังคม, เศรษฐกิจ, ความคิดและการเมืองที่ส่งผลต่อพัฒนาการของกฎหมายอิสลาม และมีการวิเคราะห์อย่างทุ่มเททางสติปัญญาที่เรียกว่า “อิจญ์ติฮาด” ปรากฏขึ้นอันนำไปสู่การปรากฏขึ้นของหลักฐานในการชี้ขาด 2 ประการ คือ อัล-อิจญ์มาอฺและอัล-กิยาส ตลอดจนระบอบการปกครองแบบคิลาฟะฮฺก็ปรากฏชัดในฐานะระบอบการปกครองทางรัฐ ศาสตร์อิสลามอีกด้วย


ส่วนหนึ่งจากพัฒนาการที่เด่นชัดในช่วงเวลานี้คือ

1. ศาสนาอิสลามแผ่ปกคลุมดินแดนของรัฐอิสลามที่มีอาณาเขตทางทิศตะวันออกจรด ประเทศจีน มหาสมุทรอินเดีย และเขตตอนกลางของแอฟริกาทางทิศใต้ จรดมหาสมุทรแอตแลนติกทางทิศตะวันตก และมีอาณาเขตทางตอนเหนือครอบคลุมทะเลสาบแคสเปียน, ทะเลดำ และหมู่เกาะในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนถึงภาคใต้ของฝรั่งเศสและคาบสมุทรไอบีเรีย (สเปน)

2. ภาษาอาหรับมีความแพร่หลายและกลายเป็นภาษาทางราชการและวิชาการในศาสตร์แขนงต่าง ๆ

3. มีความตื่นตัวในการแปลตำรับตำราจากภาษาอื่น ๆ เป็นภาษาอาหรับและมีการสร้างผลงานทางวิชาการในศาสตร์แขนงต่าง ๆ

4. บรรดาสาวกและชนรุ่นตาบิอีนได้กระจายไปตั้งหลักแหล่งในหัวเมืองต่าง ๆ ที่ถูกพิชิตนับแต่ยุคของค่อลีฟะฮฺ อุษมาน (ร.ฎ.) อันเป็นผลทำให้เกิดเมืองแห่งวิชาการตามมา อาทิเช่น เมืองกูฟะฮฺ, เมืองบัศเราะฮฺ, เมืองฟุสฏ็อฏ และนครแบกแดด เป็นต้น

5. เกิดกลุ่มสำนักทางความคิดหลากหลาย อาทิเช่น กลุ่มอัล-คอวาริจญ์, กลุ่มชีอะฮฺ, กลุ่มมุรญิอะฮฺและกลุ่มมุอฺตะซิละฮฺ เป็นต้น


(3) ช่วงของความสุกงอมและความสมบูรณ์ ซึ่งเริ่มต้นนับแต่การสถาปนาอาณาจักรอัลอับบาซียะฮฺ (ฮ.ศ.132/ค.ศ.750) และสิ้นสุดลงด้วยการปิดประตูแห่งการอิจญ์ติฮาดในตอนปลายศตวรรษที่ 4 แห่งฮิจเราะฮฺศักราช อันนับเป็นยุคทองของกฎหมายอิสลาม ในช่วงนี้มีการรวบรวมและจดบันทึกหะดีษของท่านนบี (صلى الله عليه وسلم) และกฎหมายอิสลาม ตลอดจนมีการปรากฏขึ้นของบรรดาสำนักกฎหมายอิสลามซึ่งเรียกว่า “มัซฮับ” อันได้แก่

1. มัซฮับฮะนะฟีย์ อ้างถึงอิหม่ามอบูฮะ นีฟะฮฺ อันนุอฺมาน อิบนุ ซาบิต (ฮ.ศ.70-150) ซึ่งเป็นสำนักกฎหมายอิสลามที่เปิดกว้างในด้านการใช้ทัศนะและหลักของเหตุผลใน การวิเคราะห์ตัวบททางศาสนา

2. มัซฮับมาลิกีย์ อ้างถึงอิหม่ามมาลิก อิบนุ อะนัส อิบนิ อบีอามิร (ฮ.ศ.95-179) ซึ่งเป็นนักปราชญ์แห่งนครม่าดีนะฮฺในแคว้นอัล-ฮิญาซฺและเป็นนักวิชาการสายหะ ดีษ

3. มัซฮับชาฟิอีย์ อ้างถึงอิหม่ามอบูอับดิลลาฮฺ มุฮัมมัด อิบนุ อิดรีส อัชชาฟิอีย์ (ฮ.ศ.150-204) มัซฮับชาฟิอีย์มีแนวทางสายกลางที่รอมชอมระหว่างการใช้ทัศนะและการยึดถือตัว บท

4. มัซฮับฮัมบะลีย์ อ้างถึง อิหม่ามอะฮฺหมัด อิบนุ ฮัมบัล อัชชัยบานีย์ (ฮ.ศ.164-241) เป็นสำนักกฎหมายอิสลามที่ยึดถือตัวบทอย่างเคร่งครัดและไม่ยอมรับการใช้ทัศนะ เหมือนอย่างมัซฮับฮะนะฟีย์

มัซฮับฮะนะฟีย์ เป็นที่นิยมแพร่หลายในกลุ่มประเทศที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรอุษมานียะ ฮฺแห่งตุรกีตลอดจนกลุ่มประเทศมุสลิมในเอเชียกลางและเอเชียใต้ ส่วนมัซฮับมาลิกีย์นั้นเป็นที่นิยมในหมู่พลเมืองในแอฟริกา ทั้งแอฟริกาเหนือ แอฟริกาตะวันออกและตะวันตก ในขณะที่มัซฮับชาฟิอีย์ เป็นที่นิยมของพลเมืองมุสลิมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เยเมน และอียิปต์ เป็นต้น ส่วนมัซฮับฮัมบะลีย์นั้นถือเป็นมัซฮับอย่างเป็นทางการในประเทศซาอุดิอาระเบียและมีผู้นิยมน้อยที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับมัซฮับอื่น ๆ


(4) ช่วงของการถือตาม (อัต-ตักลีด) ซึ่ง เริ่มต้นนับแต่การปิดประตูแห่งการอิจญ์ติฮาด ในตอนปลายศตวรรษที่ 4 แห่งฮิจเราะฮฺศักราช และดำเนินเรื่อยมาจวบจนทุกวันนี้ ในด้านการเมือง โลกอิสลามในช่วงที่ 4 นี้แตกออกเป็นรัฐเล็กรัฐน้อย มีกลุ่มชาติพันธุ์มุสลิมที่มิใช่อาหรับเข้ามามีอำนาจผลัดเปลี่ยนกัน อาทิเช่น ชาวเติร์ก (ตุรกี), ชาวเปอร์เซีย (อิหร่าน) เป็นต้น

และเนื่องจากมุสลิมขาดความสามัคคีและเอกภาพทำให้ดินแดนของชาวมุสลิมตกอยู่ ใต้อาณัติของกลุ่มประเทศตะวันตกที่ล่าเมืองขึ้น โดยเฉพาะภายหลังการล่มสลายของอาณาจักรอุษมานียะฮฺ แห่งตุรกี ที่มีการประกาศยกเลิกระบอบการปกครองแบบคิลาฟะฮฺในปีค.ศ.1924

ผลจากการล่าเมืองขึ้นของกลุ่มประเทศตะวันตก กฎหมายอิสลามโดยส่วนใหญ่ได้ถูกยกเลิกและมีการนำกฎหมายตะวันตกเข้ามาใช้ทดแทน จวบจนในช่วงหลังมานี้ ได้มีการเรียกร้องให้กลุ่มประเทศมุสลิมที่ได้รับเอกราชจากกลุ่มประเทศตะวัน ตกเริ่มหันมาให้ความสำคัญในการฟื้นฟูกฎหมายอิสลามและนำเอากฎหมายอิสลามมา บังคับใช้อีกครั้ง ซึ่งกระแสการเรียกร้องดังกล่าวได้เริ่มขึ้นนับแต่ช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา


ความสำคัญของกฎหมายอิสลาม

กฎหมายอิสลามมีอัล-กุรอานและอัล-หะดีษเป็นแม่บทที่สมบูรณ์ครบถ้วน และเป็นธรรมนูญในการดำเนินชีวิตของมุสลิม โดยประมวลกฎหมายอิสลามได้กำหนดภารกิจของมนุษย์ที่มีต่อพระองค์อัลลอฮฺ (سبحا نه وتعالي) หน้าที่ต่อตัวเองและหน้าที่ต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน และมีเป้าหมายในการพิทักษ์คุ้มครองสิ่งสำคัญ 5 ประการ คือ (1) ศาสนา (2) ชีวิต (3) สติปัญญา (4) เชื้อสายโลหิต และ (5) ทรัพย์สิน


หากเราพิจารณากฎหมายอิสลามอย่างกว้าง ๆ ในแง่ความสำคัญแล้วพอจะกล่าวได้ดังนี้ คือ

(1) กฎหมายอิสลามเป็นธรรมนูญแห่งชีวิตที่มุสลิมทุกคนจำต้องยึดถือปฏิบัติโดย เคร่งครัด ทั้งนี้การปฏิบัติตามกฎหมายอิสลามมีผลทำให้ปัจเจกบุคคลมีความเป็นปกติสุขและ ทำให้สังคมโดยรวมเกิดความสันติสุข

(2) กฎหมายอิสลามได้กำหนดสิทธิและหน้าที่ส่วนบุคคลและสิทธิประโยชน์ส่วนรวมเอา ไว้อย่างมีดุลยภาพและครบถ้วน ชัดเจน มีความเป็นธรรมและสมเหตุสมผล ยืดหยุ่นและเหมาะสมกับทุกยุคทุกสมัย

(3) กฎหมายอิสลามได้จัดระเบียบสังคมทุกระดับโดยเป็นไปตามครรลองที่ถูกต้องและ เป็นธรรมทั้งในด้านสังคม, เศรษฐกิจ, การเมือง และการปกครองและมุ่งพิทักษ์รักษาผลประโยชน์ของทุกฝ่าย


อ.อาลี เสือสมิง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น